อาวุธชีวภาพและอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ

(Biological Weapons and Biological Weapons Convention)

จากเหตุการณ์วินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ก่อให้เกิดความหวั่นวิตกว่าอาจจะมีการโจมตีจากการใช้อาวุธทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction – WMD) ได้แก่ อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี และอาวุธชีวภาพ แต่อาวุธชีวภาพจะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นอาวุธที่หามาได้ง่ายและราคาถูก แต่มีผลในการทำลายล้างสูง เชื่อว่าบางท่านอาจจะยังไม่เข้าใจว่าอะไรคืออาวุธชีวภาพ แล้วมีความน่ากลัวอย่างไร มีข้อตกลงระห่างประเทศเกี่ยวกับการห้ามใช้อาวุธชีวภาพหรือไม่ และมีการปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นกันอย่างไร

อาวุธชีวภาพ (Biological Weapons) คืออะไร?

“อาวุธชีวภาพ” หรือ “อาวุธเชื้อโรค” คืออาวุธที่ได้จากสิ่งมีชีวิต ซึ่งครอบคลุมถึงสารพิษจากสิ่งมีชีวิต หรือแม้กระทั่งฮอร์โมนหรือสารอื่นใดที่สิ่งมีชีวิตผลิตขึ้นมา หากจะพูดให้เข้าใจได้ง่ายก็คืออาวุธเชื้อโรคหรืออาวุธสารพิษที่สกัดจากสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์นั่นเอง อาวุธชีวภาพนี้เป็นอาวุธที่ผลิตได้ง่าย มนุษย์รู้จักผลิตอาวุธชีวภาพนี้โดยเลียนแบบการเกิดโรคระบาด ความหายนะที่เกิดจากอาวุธชีวภาพนั้นไม่ได้ด้อยกว่าระเบิดปรมาณูเลย วิธีการใช้อาจนำไปโปรยลงมาจากเครื่องบิน หรือนำไปทำเป็นหัวรบของขีปนาวุธยิงสู่พื้นที่เป้าหมาย อาวุธชีวภาพมีผลกระทบทั้งต่อความมั่นคงของชาติ (national security) และการสาธารณสุข (public health) ผลกระทบที่ติดตามมาในแง่จิตวิทยาและสังคม สามารถนำความหายนะมาสู่ตัวบุคคลและสังคม โดยสร้างโศกนาฎกรรมมากกว่าอาวุธชนิดอื่นได้

ตัวอย่างจุลินทรีย์และสารพิษที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นอาวุธชีวภาพ

1. เชื้อแบคทีเรีย (bacteria)

    1. แอนแทรกซ์ (anthrax)

โรคแอนแทรกซ์เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Bacillus anthracis ซึ่งเป็นแบคทีเรียประเภทแกรมบวก (gram positive bacteria) แบคทีเรียชนิดนี้มีการสืบพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ (spore) และเมื่อตกไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สปอร์นี้ก็จะเจริญเป็นแบคทีเรียและแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว อีกทั้งสปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์นี้มีการสร้างเกราะหุ้มอีกด้วย จึงทำให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถพักตัวอยู่ในดินได้นานนับปี ดังนั้นสปอร์ของแอนแทรกซ์ตกอยู่ในพื้นที่ใด พื้นที่นั้นจะไม่สามารถใช้งานทางด้านปศุสัตว์อย่างน้อย 2-3 ปี

เชื้อ B. anthracis สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผล ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบเลือด และทางเดินหายใจ เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อแอนแทรกซ์ในระบบทางเดินหายใจ จะมีอาการเริ่มแรกคล้ายเป็นไข้หวัด มีน้ำมูกไหล หลังจากนั้นไม่นานอาการจะรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อก หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด การรักษาสามารถทำได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ การป้องกันสามารถทำได้โดยฉีดวัคซีน หากเป็นกรณีฉุกเฉินสามารถให้สวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ การใช้เชื้อโรคแอนแทรกซ์เป็นอาวุธสามารถทำได้ ด้วยการนำเชื้อแอนแทรกซ์ที่เพาะเลี้ยงไว้และเก็บในรูปสารละลายมาฉีดพ่นโดยเครื่องบิน หรือใช้ทำเป็นหัวรบ ซึ่งญี่ปุ่นเคยใช้อาวุธเชื้อโรคแอนแทรกซ์นี้กับชาวจีนมาแล้วเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2

1.2 Clostridium botulinum

C. botulinum เป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสารพิษ botulinum และทำให้อาหารกระป๋องเน่าเสีย อาหารเป็นพิษ C. botulinum เพียงแค่จุดเล็กๆก็สามารถทำลายชีวิตคนได้ถึง 10 คน โดยซึมเข้าทางเยื่อบุ ของร่างกาย เช่น เยื่อบุทางเดินหายใจ เป็นสารพิษที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ผู้ที่ได้รับสารพิษนี้เข้าไปจึงไม่มีโอกาสรู้ตัวจนกว่าพิษ จะเริ่มแสดงอาการ อาการของผู้ที่ได้รับสารพิษจะเริ่มด้วยอาการตาพร่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้อาเจียน ในที่สุดระบบประสาทจะถูกทำลายและผู้ป่วยจะเสียชีวิตในที่สุด การแก้พิษต้องทำได้โดยใช้ยาแก้พิษ การป้องกันสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน ในกรณีฉุกเฉินสามารถป้องกันได้โดยใส่หน้ากากป้องกันก๊าซพิษ แต่เนื่องจากพิษ botulinum ยังแบ่งเป็นชนิดย่อยอีกหลายชนิดขึ้นกับสายพันธุ์ของแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุและนำมาใช้ในการผลิต ดังนั้นจึงเป็นการยากในทางปฏิบัติที่จะเตรียมการป้องกันประชาชนเป็นการล่วงหน้า เพราะยังไม่ทราบว่าศัตรูจะแพร่พิษ botulinum ชนิดใด พิษ botulinum นี้ยังไม่เคยมีรายงานว่าถูกใช้ในการสงครามมาก่อน แต่มีรายงานว่าอิรัก รวมทั้งอิหร่าน ซีเรีย ลิเบีย และเกาหลีเหนือก็มีอาวุธชีวภาพชนิดนี้อยู่ในครอบครองและพร้อมที่จะใช้งาน

1.3 Clostridium perfringens

C. perfringens เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในสกุล (genus) เดียวกับ C. botulinum โดย C. perfringens นี้เป็นแบคทีเรียที่ทำให้อาหารกระป๋องเน่าเสียและเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น หากแบคทีเรียชนิดนี้เข้าไปอาศัยอยู่ในแผลที่สกปรกและอากาศเข้าไม่ถึงแล้ว พิษของมันจะทำให้เกิดก๊าซขึ้นในบาดแผล ทำให้แผลบวมเบ่งและเนื้อเน่าตาย (gas gangrene) ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องตัดอวัยวะที่เกิดแผลเนื้อเน่าตายนี้ทิ้งไป มิฉะนั้นพิษจะแพร่เข้าในระบบโลหิตและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เมื่อครั้งที่องค์การสหประชาชาติเข้าทำลายแหล่งผลิตอาวุธชีวภาพที่เมืองอัลฮากัมใกล้กรุงแบกแดดในปี ค.ศ. 1996 ก็ได้พบคลังเก็บเชื้อ C. perfringens นี้ด้วย มีข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธชีวภาพชนิดนี้ไม่มากนัก แต่สันนิษฐานว่าอิรักน่าจะใช้วิธีสกัดสารพิษจากแบคทีเรียแล้วนำไปทำเป็นอาวุธชีวภาพโดยวิธีการใช้งานน่าจะคล้ายคลึงกับ C. botulinum

    1. Pasteurella pestis
    2. P. pestis ทำให้เกิดกาฬโรค (plague) ซึ่งมีการติดต่อรวดเร็วมาก ทำให้ผู้ป่วยเป็นปอดบวม มีไข้สูง ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน และถึงแก่ความตายในที่สุด

    3. P.tularensis

P. tularensis ทำให้เกิดโรค tularemia โดยผู้ป่วยจะไม่ตาย แต่จะทำให้สูญเสียน้ำหนักตัว ปวดศรีษะ ปวดตามร่างกาย และปอดบวม

2. เชื้อรา (mold)

2.1 Aspergillus flavus

A. flavus เป็นเชื้อราที่มีอยู่ในธรรมชาติ ชอบขึ้นบนสินค้าเกษตรที่เก็บรักษาไม่ดีพอ ทำให้มีความชื้นเจือปนสูง เช่น ข้าวโพด ถั่ว ฯลฯ รวมทั้งขึ้นได้ดีในถั่วป่น พริกป่น ที่ใช้ใส่ในอาหาร สามารถผลิตสารพิษอะฟลาทอกซิน (aflatoxin) อันเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดมะเร็งในตับ ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้พิษชนิดนี้เป็นอาวุธชีวภาพมากนัก แต่เนื่องจากสารพิษอะฟลาทอกซินนี้เป็นสารก่อมะเร็งในระยะยาว ดังนั้นจึงไม่ใช่อาวุธที่ให้ผลในฉับพลัน แต่เป็นการสังหารเหยื่อแบบตายผ่อนส่งมากกว่า เคยมีรายงานว่าพบสารพิษชนิดนี้ถูกบรรจุในระเบิดและหัวรบในแหล่งผลิตอาวุธชีวภาพของอิรัก

3. เชื้อไวร้ส (virus)

    1. Ebola
    2. เป็นสาเหตุของ Ebola hemorrhagic fever (EHF) เกิดจากเชื้อไวรัสเป็นอันตรายมาก ทำให้เกิดการตกเลือด (profuse bleeding) จากช่องทวารต่างๆ ไม่มียารักษา เป็นโรคที่รุนแรงในแอฟริกา และเมื่อเร็วๆ นี้ มีการระบาดในประเทศอูกันดา แต่การระบาดได้สิ้นสุดลงแล้ว ในการระบาดที่ผ่านมามีกรณีเกิดขึ้นถึง 1,500 กรณี และเสียชีวิตมกกว่า 1,000 กรณี ตั้งแต่พบว่ามีการระบาดเกิดขึ้น

    3. Marburg disease
    4. เป็น viral hemorrhagic fever เช่น Ebola มีอาการคล้ายกัน ทำให้เกิดไข้สูง ตกเลือด ผิวหนังเป็นผื่น อาเจียน และเสียชีวิต เป็นเชื้อโรคถ่ายทอดถึงมนุษย์ ได้จากลิงสีเขียว (green monkey) จากแอฟริกา ที่นำมาใช้เป็นสัตว์ทดลอง

    5. Smallpox virus

โรคไข้ทรพิษ (smallpox) ถูกกำจัดไปจากธรรมชาติแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ทั่วโลกได้หยุดการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ แต่ยังคงมีสองประเทศที่เก็บเชื้อ smallpox ไว้ในห้องปฎิบัติการ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย แต่การเก็บรักษาในประเทศรัสเซียเริ่มประสบปัญหาเนื่องจากสภาพเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เป็นแหล่งอันตราย อาจแพร่เชื้อ smallpox virus ถ้าคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ หากได้รับเชื้อจะทำให้ตาย 20 – 30 % โดยไม่มียารักษาเฉพาะ

  1. สารพิษ (toxin)
    1. สารพิษไรซิน (ricin)

เป็นสารพิษที่สกัดจากเมล็ดละหุ่ง ใช้เป็นยาปราบศัตรูพืช สารพิษไรซินจะไปยับยั้งการผลิตโปรตีน ของเซลล์อันเป็นกระบวนการทำงานพื้นฐานของร่างกาย ผู้ที่ได้รับสารพิษไรซินจะเสียชีวิตเนื่องจากร่างกายไม่สามารถ ผลิตโปรตีนที่จำเป็นในการดำรงชีวิตได้ ไม่มีวิธีการรักษา แต่อาจป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ยังไม่เคยมีรายงานเกี่ยวกับการใช้ไรซินในสงครามชีวภาพ แต่เคยมีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นในกรุงลอนดอนโดยผู้เสียชีวิตถูกสังหารอย่างแยบยลโดยฆาตกรใช้ร่มปลายแหลมที่เคลือบไรซินไว้ทิ่มใส่ร่างเหยื่อขณะอยู่ที่ป้ายรถประจำทาง

จากตัวอย่างที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าอาวุธชีวภาพนั้นมีความหลากหลายอยู่มาก ดังนั้นจึงยากแก่การป้องกันล่วงหน้า นักวิเคราะห์ทางด้านการทหารเชื่อว่าสงครามในอนาคตจะมีการนำอาวุธชีวภาพออกมาใช้กัน โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ร่ำรวยนัก เนื่องจากอาวุธชีวภาพผลิตได้ไม่ยาก ปัจจุบันความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพก้าวหน้าไปมาก อาวุธชีวภาพเหล่านี้อาจถูกพัฒนาให้มีความร้ายกาจมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น อาวุธเชื้อแอนแทรกซ์อาจถูกพัฒนาให้ได้สายพันธุ์ใหม่ที่ดื้อยาปฏิชีวนะ ทำให้ยากแก่การรักษา หรืออาจพัฒนาจนได้สายพันธุ์ที่วัคซีนที่มีอยู่ป้องกันไม่เป็นผลก็เป็นได้ เป็นต้น ข้อดีของอาวุธชีวภาพคือผลิตได้ง่าย ราคาถูก แต่ก็มีข้อเสียคือเสื่อมสภาพได้ง่าย การเก็บรักษา การขนส่ง หรือสภาพการใช้งานที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้อาวุธเหล่านี้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร รวมทั้งหากไม่ระวังหรือเกิดการพลาดพลั้ง เช่น ลมพัดเปลี่ยนทิศทาง ฯลฯ อาวุธเหล่านี้อาจย้อนกลับมาทำร้ายผู้ใช้เสียเอง

ข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการห้ามใช้อาวุธชีวภาพมีหรือไม่?

ในระดับนานาชาติข้อตกลงเกี่ยวกับการห้ามใช้อาวุธชีวภาพ คือ “อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ” (Biological Weapons Convention – BWC) หรือมีชื่อเต็ม ว่า “อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามพัฒนา ผลิต และสะสมอาวุธบัคเตรี (ชีวะ) และอาวุธทอกซิน และว่าด้วยการทำลายอาวุธเหล่านี้” ชื่อภาษาอังกฤษว่า Convention on the Prohibition of the Development, Production and Stockpiling of Bacteriological (Biological) and Toxin Weapons and on Their Destruction เป็นหนึ่งในความตกลงพหุภาคีด้านลดอาวุธที่สะท้อนถึงความพยายามของประชาคมโลกในการป้องกันมิให้มีการแพร่ขยายอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง คือ อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี และอาวุธชีวภาพ

อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพได้รับการเจรจายกร่างในกรอบของที่ประชุมว่าด้วยการลดอาวุธ ณ นครเจนีวา แล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) และเปิดให้มีการลงนามเมื่อ ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) โดยมีผลบังคับใช้เมื่อ ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) มีสาระสำคัญคือ ห้ามรัฐภาคีพัฒนา ผลิต และสะสมอาวุธชีวภาพ และให้ทำลายอาวุธที่มีอยู่ในครอบครอง อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพถือเป็นความตกลงพหุภาคีด้านการลดอาวุธฉบับแรกของโลก ซึ่งปัจจุบันมีประเทศต่างๆ เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ จำนวน 144 ประเทศ และประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เป็นลำดับที่ 38 โดยให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518)

สรุปประเด็นหลักในอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ

ข้อ 1 รัฐภาคีแต่ละรัฐแห่งอนุสัญญานี้ รับจะไม่พัฒนา ผลิต สะสม หรือหามาไว้ซึ่ง

ข้อ 2 รัฐภาคีรับจะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไปใช้ในทางสันติ ซึ่งสารทอกซิน อาวุธ บริภัณฑ์ และเครื่องส่งที่ระบุไว้ในข้อ 1

ข้อ 3 รัฐภาคีรับจะไม่โอนให้ผู้ใดและจะไม่ช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือชักจูงให้รัฐหรืองค์การระหว่างประเทศผลิตหรือได้มาซึ่งสารทอกซิน อาวุธ บริภัณฑ์ หรือเครื่องส่งที่ระบุไว้ในข้อ 1

ข้อ 4 รัฐภาคีรับจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อห้ามและป้องกันการพัฒนา ผลิต สะสม ได้มา หรือมีไว้ ซึ่งสารทอกซิน อาวุธ บริภัณฑ์ หรือเครื่องส่งที่ระบุไว้ในข้อ 1

ข้อ 5 รัฐภาคีรับจะหารือซึ่งกันและกัน และร่วมมือกันแก้ปัญหาซึ่งอาจเกิดจากวัตถุประสงค์หรือการปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ ภายใต้กรอบการทำงานของสหประชาชาติ

ข้อ 6

  1. รัฐภาคีที่พบว่ารัฐภาคีอื่นใดกระทำการละเมิดพันธกรณี ซึ่งเกิดจากบทบัญญัติของอนุสัญญาอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
  2. รัฐภาคีรับจะใช้ความร่วมมือในการดำเนินการสืบสวน ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอาจริเริ่ม ตามที่ได้รับการ้องเรียน

ข้อ 7 รัฐภาคีรับจะให้หรือสนับสนุนการช่วยเหลือตามกฏบัตรแห่งสหประชาชาติ แก่รัฐภาคีใดที่ร้องขอ ถ้าคณะมนตรีความมั่นคงแหงสหประชาชาติมีมติว่ารัฐภาคีนั้นอยู่ในอันตรายอันเป็นผลเนื่องจากการละเมิดอนุสัญญา

ข้อ 8

  1. รัฐภาคีรับจะอำนวยความสะดวกมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และมีสิทธิร่วมในการแลกเปลี่ยนบริภัณฑ์ วัสดุ และข้อสนเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการใช้สารชีวภาพและทอกซินเพื่อความมุ่งประสงค์ในทางสันติ และให้ความร่วมมือสนับสนุนให้มีความก้าวหน้าในการพัฒนาและใช้ประโยชน์ จากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์สาขาจุลชีววิทยา เพื่อการป้องกันโรคติดต่อ หรือเพื่อความมุ่งประสงค์อื่นในทางสันติ
  2. การใช้อนุสัญญานี้จะหลีกเลี่ยงการขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจหรือเทคโนโลยีของรัฐภาคี หรือความร่วมมือระหว่างประเทศในกิจกรรมทางจุลชีววิทยาเพื่อสันติ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ซึ่งสารชีวภาพและทอกซิน และเครื่องมือสำหรับการผ่านกรรมวิธีการใช้ หรือการผลิตสารชีวภาพและทอกซิน เพื่อความมุ่งประสงค์ในทางสันติตามบทบัญญัติของอนุสัญญา

จุดอ่อนของอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพคืออะไร?

อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพมีข้อด้อยหรือจุดอ่อนคือ ยังไม่มีการแจ้ง (declaration) และมาตรการตรวจสอบพิสูจน์ยืนยัน (verification measures) ทำให้เกิดความคลุมเครือและข้อสงสัยในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ซึ่งได้ส่งผลต่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการนำแบคทีเรียและสารชีวภาพไปใช้ในทางสันติ ประเทศภาคีจึงเกิดความคิดที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้อนุสัญญาฯ โดยวิธีกำหนดมาตรการพิสูจน์ยืนยันอาวุธชีวภาพ โดยในปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ที่ประชุมทบทวนอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 3 ได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแบบปลายเปิด (Open–Ended Ad Hoc Group) ของผู้เชี่ยวชาญรัฐภาคี ศึกษาความเป็นไปได้ของมาตรการตรวจสอบพิสูจน์ยืนยัน (verification measures) การใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพิสูจน์ยืนยัน ซึ่งเรียกว่า VEREX Group เพื่อกำหนดแนวทางและเค้าโครงของมาตรการพิสูจน์ยืนยันด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ

ในปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) ที่ประชุมประเทศภาคีสมัยพิเศษได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (Ad Hoc Group – AHG) ของประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ขึ้นเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการพิสูจน์ยืนยัน (verification measures) ที่เหมาะสม ซึ่งจะป้องกันไม่ให้มีการพัฒนา ผลิต สะสมอาวุธชีวภาพ อันเป็นการช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและประสิทธิภาพในการบังคับใช้อนุสัญญาฯ โดยมาตรการพิสูจน์ยืนยันดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นพิธีสาร (Protocol) แนบท้ายอนุสัญญาฯ โดยกำหนดกรอบเวลาการเจรจาจัดทำร่างพิธีสารแล้วเสร็จ ก่อนการประชุมทบทวนอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 5 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน – 7 ธันวาคม ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) แต่หลังจากได้มีการประชุม AHG ครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม – 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา) ที่ประชุมยังไม่สามารถตกลงในร่างพิธีสารฯ ได้ อีกทั้งสหรัฐฯ ยังได้ขอถอนตัวจากกระบวนการจัดทำร่างพิธีสารฯ ด้วยเหตุผลว่า หากสหรัฐฯ ยอมรับตามยกร่างพิธีสารที่ได้จัดทำมา แทนที่จะสามารถตรวจสอบและขัดขวางผู้ที่มีเจตนาร้ายที่จะนำเทคโนโลยีชีวภาพไปใช้ในทางที่ผิด คือนำไปผลิตอาวุธชีวภาพได้ กลับจะเป็นผลเสียหายต่อผู้ที่ผลิต และค้าผลิตภัณฑ์ที่อาศัยเทคโนโลยีชีวภาพอย่างบริสุทธิ์ใจในทางสันติ ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมของสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนหลักการของอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คาดกันว่า ในการประชุมทบทวนอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 5 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ก็ยังคงไม่สามารถรับรองร่างพิธีสารได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุดในการลดและป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธชีวภาพ หรือการทำให้อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพบรรลุผลนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจซึ่งกันและกันของมนุษยชาติที่จะยอมรับความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม รวมทั้งมีความไว้เนื้อเชื้อใจซึ่งกันและกันระหว่างประเทศต่างๆ ทั่วโลก หากขาดสิ่งต่างๆ เหล่านี้แล้ว การดำเนินการเพื่อลดการผลิตและสะสมอาวุธชีวภาพ คงไม่อาจประสบผลสำเร็จไปได้