3. ทำไมจึงต้องประเมินความปลอดภัย

เหตุที่ต้องทำการประเมินความปลอดภัย ก็เนื่องมาจากความกังวลของมนุษย์ ที่กลัวว่า ถ้าจะนำสิ่งมีชีวิต
ดัดแปลงพันธุกรรมไปใช้ประโยชน์ อาจส่งผลกระทบในด้านลบต่อสุขอนามัยของมนุษย์และต่อสิ่งแวดล้อม
เพื่อทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ก็ขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้ โดยทั่วไป จากความรู้ที่สะสมมานานอาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่สมัยเมื่อเริ่มกำเนิดมนุษย์ก็ว่าได้
ที่บอกเล่าขานกันว่า พืชพรรณต่างๆ เหล่านี้มีความปลอดภัยที่จะนำมาใช้ประโยชน์ และมนุษย์ปัจจุบันก็เชื่อว่ามีความปลอดภัย เพราะไม่เห็นส่งผลกระทบ
ใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อมหรือต่อสุขอนามัยของมนุษย์ หลายคนอาจไม่เห็นด้วย แต่อยากจะเน้นว่า ตัวของพืชเองนั้นไม่มีอันตราย (ยกเว้นในบางชนิดที่มีสารพิษอยู่ในตัว) แต่วิธีปฏิบัติต่อพืชต่างหากที่อาจ
มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พืชพรรณต่างๆ ดังกล่าวจึงไม่ได้มีการประเมินความปลอดภัย (ในความเป็นจริง ได้มีการประเมินโดยลองผิดลองถูก
มาเป็นเวลานานแล้ว)
แต่พืชดัดแปลงพันธุกรรม เป็นเสมือนสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และไม่เคยมีประวัติว่า ถ้ามียีนจากสิ่งมีชีวิตอื่นเข้าไปอยู่ด้วยจะมีความปลอดภัย
หรือไม่ แม้ว่ายีนที่มาจากสิ่งมีชีวิตอื่นจะมีประวัติว่าปลอดภัยก็ตาม จะเห็นได้ว่า แม้แต่นักวิจัยที่ทำงานทางด้านนี้ก็ยังมีความห่วงกังวล เช่นเดียว
กับบุคคลทั่วๆ ไป จึงได้คิดกันว่าน่าจะต้องประเมินความปลอดภัยเสียก่อน ก่อนที่จะปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ประเด็นที่คิดกันก็คือว่า ถ้านำ
พืชดัดแปลงพันธุกรรมไปปลูกแล้วจะมีผลกระทบที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ รวมทั้งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขอนามัยของมนุษย์ ถ้ามี
มีมากน้อยขนาดไหน แล้วจะจัดการลดภัยที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่
นั่นคือที่มาของการประเมินความปลอดภัย แต่เพื่อให้การประเมินมีความน่าเชื่อถือ จำเป็นต้องวางหลักในการประเมิน ซึ่งจะมีอยู่ประมาณ 6
หลักการคือ
- การประเมินนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือต้องมีเหตุ มีผลที่สามารถอธิบายได้
- การประเมินนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ นั่นคือการประเมินจะต้องทำที่ตัวพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ไม่ใช่ ทำที่กระบวนการพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ข้อมูลในการพัฒนาพันธุ์ และผลิตภัณฑ์ ก็จะใช้เป็นเพียงข้อมูลประกอบในการประเมิน
- การประเมินนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความคุ้นเคย นั่นคือ บนความรู้ที่มีอยู่ ไม่ใช่ประเมินในสิ่งที่ไม่รู้
- การประเมินนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของแต่ละกรณีไป นั่นคือ จะต้องประเมินในพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือในผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมในแต่ละชนิดไป ไม่ใช่ว่าพันธุ์ หรือผลิตภัณฑ์นี้ประเมินแล้ว สามารถอ้างอิงถึงพันธุ์ หรือผลิตภัณฑ์อื่นได้
- การประเมินนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานการประเมินเป็นขั้นตอน นั่นคือ ต้องมีระบบในการประเมิน ตัวอย่างเช่น ที่ได้กำหนดไว้โดยกรมวิชาการเกษตร ว่าจะต้องประเมินในโรงเรือนที่ปิดมิดชิดก่อน จึงจะทำการประเมินต่อในโรงเรือนที่ควบคุมได้บางส่วน ไม่ใช่มาเริ่มที่ส่วนหลังเลย ดังนี้เป็นต้น
- การประเมินนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเทียบเท่า นั่นคือ การที่จะบอกว่า พืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมนั้นมีผลกระทบทางลบหรือไม่นั้น จะต้องมีการเปรียบเทียบกับพืชหรือผลิตภัณฑ์ปกติ ถ้าการประเมินนั้นได้ผลเหมือนกับพืชหรือผลิตภัณฑ์ปกติ ก็แสดงว่ามีความเทียบเท่า หรือไม่ได้ส่งผลกระทบที่แตกต่างไปจากพืชหรือผลิตภัณฑ์ปกติ
